เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1210] ข้าพระพุทธเจ้านั้นได้รักษาอุโบสถศีล
ในวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำทุกเมื่อ
ไม่เบียดเบียนสัตว์และไม่ลักทรัพย์
[1211] กรรมทั้งปวงที่ข้าพระพุทธเจ้า
ได้ประพฤติมาดีแล้วนี้ไร้ผลแน่
ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์เหมือนอลาตเสนาบดีกล่าว
[1212] ข้าพระพุทธเจ้ากำเอาแต่ความปราชัยไว้
เหมือนนักเลงผู้ไร้ศิลปะเป็นแน่
ส่วนอลาตเสนาบดีกำเอาไว้แต่ชัยชนะ
เหมือนนักเลงผู้ฝึกฝนการพนัน
[1213] ข้าแต่พระราชา ข้าพระพุทธเจ้ายังมองไม่เห็นประตู
ที่จะเป็นทางไปสู่สุคติเลย ฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟัง
คำของกัสสปคุณาชีวกแล้ว จึงร้องไห้”
[1214] พระเจ้าอังคติได้สดับคำพูดของนายวีชกะแล้ว
ได้ตรัสว่า “ประตูสุคติไม่มี ท่านยังสงสัยอีกหรือวีชกะ”
[1215] ได้ทราบว่า “สุขหรือทุกข์สัตว์ได้เองแน่นอน
สัตว์ทั้งหลายหมดจดได้ด้วยการท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ
เมื่อยังไม่ถึงเวลา ท่านอย่าได้รีบด่วนไปเลย
[1216] เมื่อก่อน แม้เราก็เคยทำความดีมา
ขวนขวายช่วยเหลือพราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
สั่งสอนราชกิจอยู่เนือง ๆ งดเว้นจากความยินดี(ในกามคุณ)
ตลอดกาลมีประมาณเท่านี้
[1217] ท่านผู้เจริญ พวกเราจะได้พบกันอีก
ถ้าจักมีการคบหาสมาคมกัน”
พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว
ก็ได้เสด็จกลับไปยังพระราชนิเวศน์ของพระองค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :371 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 8.มหานารทกัสสปชาดก (545)
[1218] ต่อจากนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว
พระเจ้าอังคติรับสั่งให้ประชุมเหล่าอำมาตย์
ในสถานที่ประทับสำราญของพระองค์แล้ว
ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า
[1219] “ขอเหล่าอำมาตย์จงจัดกามคุณทั้งหลายให้แก่เราทุกเมื่อ
ในจันทกปราสาทของเรา
เมื่อราชการลับถูกเปิดเผยขึ้น
ใคร ๆ อย่าได้เข้ามาหาเรา
[1220] อำมาตย์ฉลาดในราชกิจ 3 นาย คือ
(1) วิชัยอำมาตย์ (2) สุนามอำมาตย์
(3) อลาตเสนาบดี จงนั่งพิจารณาข้อราชการเหล่านี้”
[1221] พระเจ้าวิเทหะครั้นตรัสดังนี้แล้ว
จึงตรัสพระดำรัสนี้ว่า
“ขอท่านทั้งหลายจงใส่ใจในกามคุณให้มาก
และอย่าได้ไปยุ่งในกิจการอะไร ๆ
ในพวกพราหมณ์และคหบดีเลย”
[1222] ตั้งแต่วันนั้นมา 2 สัปดาห์
พระราชกัญญาพระนามว่ารุจา
ผู้เป็นพระธิดาเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าวิเทหะ
ได้ตรัสกับพระพี่เลี้ยงว่า
[1223] “ขอพวกท่านจงช่วยกันประดับประดาให้ฉันด้วย
และขอให้เพื่อนหญิงของฉันจงช่วยกันประดับ
พรุ่งนี้ 15 ค่ำเป็นวันทิพย์1
ฉันจะไปเฝ้าพระบิดา”

เชิงอรรถ :
1 วันทิพย์ หมายถึงวันที่เทวดาประชุมกันประดับตกแต่งร่างกาย (ขุ.ชา.อ. 10/1223/144)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :372 }